ความเป็นมา

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี-มหาวิทยาลัยมหิดล – จังหวัดอำนาจเจริญ
            
มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควบคู่ไปกับการวางแผนใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช ในรูปแบบสหสัมพันธ์วิทยามาตั้งแต่ปี 2551 คณะผู้วิจัยเหล่านี้ทำงานสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชเขื่อนศรีนครินทร์และเขาวังเขมร จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแผนงานการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ แบบผสมผสาน ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโครงการวิจัยดังกล่าว มีนักวิจัยหลักและผู้ช่วยนักวิจัย และนักศึกษาระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท ที่ร่วมดำเนินการและออกภาคสนามร่วมกันในทุกครั้งไม่น้อยกว่า 60 คน มีองค์ความรู้จำแนกเป็นสาขาต่างๆ เช่น สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาศาสตร์ พฤกษศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ชีววิทยา สาขาการบริหารสิ่งแวดล้อมสัตวแพทยศาสตร์อณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ และสาขาโภชนาการ เป็นต้น นักวิจัยเหล่านั้นจะนำประสบการณ์ และความรู้เฉพาะด้านของแต่ละท่าน มาช่วยกันจึงเป็นการสะสมประสบการณ์ทำงาน ในรูปแบบของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสนองพระราชดำริตามแผนแม่บท โครงการ อพ.สธ. ซึ่งมีกิจกรรม 8 กิจกรรม คือ
กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
 กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
 กิจกรรมที่ 7 กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
 กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

           แต่เนื่องจากสภาพความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่และลักษณะของทรัพยากรชีวภาพที่มีความแตกต่างกัน ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องใช้การวิจัยและพัฒนาแบบสหวิทยาการ และใช้หลักการบริการจัดการโครงการแบบบูรณาการควบคู่กันไป เพื่อให้สอดรับกับโจทย์วิจัย และความต้องการของชุมชนในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ตามแผนแม่บท ของโครงการ อพ.สธ. ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เกิดต้นแบบของการทำงานแบบบูรณาการบนพื้นที่จริงที่ใช้ในการศึกษาวิจัย นอกจากนั้นประสบการณ์การทำงานของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ผ่านมา ได้สะสมต้นทุนต่างๆ ที่ได้จากกระบวนการทำงาน ได้แก่ เครือข่ายการทำงานทั้งนักวิชาการ ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากร เอกสารรายงานต่างๆ รวมทั้งภาพถ่ายความหลากหลายทางชีวภาพที่นักวิจัยได้บันทึกรวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นการเข้าร่วมทำงานร่วมกับโครงการ อพ.สธ. ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเข้าใจในกิจกรรมการดำเนินงานและแผนแม่บทของโครงการ อพ.สธ. ได้เป็นอย่างดี ทำให้แผนงานฯ มีความพร้อมของต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดการทำงานด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้แก่ ชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการปกป้องพื้นที่และเกิดความหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่นเกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและธำรงพื้นที่ป่าในพื้นที่ให้มีบรรยากาศ มีดิน มีน้ำ มีอุณหภูมิ และความชื้นที่มีความสมบูรณ์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ต่อไป

           จังหวัดอำนาจเจริญนี้มีสภาพความหลากหลายทางชีวภาพมากจังหวัดหนึ่ง ซึ่งจากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในเบื้องต้น พบว่าพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรอื่นๆ ในจังหวัดอำนาจเจริญ รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าดงหัวกองและป่าดงบังอี่ ยังคงความหลากหลายอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้กำลังถูกคุกคามทั้งจากประชาชนในจังหวัด และบุคคลจากภายนอก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แบบขาดความเข้าใจและเห็นแก่ตัวมากขึ้น นอกจากนี้ฐานข้อมูลแสดงที่ตั้งของทรัพยากรธรรมชาติ ในด้านของความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกนำไปเผยแพร่ ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึง และนำออกไปนอกพื้นที่ได้โดยง่าย จำเป็นต้องรีบดำเนินการปลูกจิตสำนึกและถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติให้ถูกหลักการให้กับเครือข่ายชุมชน เพื่อนำไปสู่การปกปักพื้นที่อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชอย่างยั่งยืน โดยอาศัยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ แบบผสมผสาน ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้ตอบรับว่าจะมาช่วยกันอย่างเต็มที่ โดยยึดหลักการใช้พื้นที่ธรรมชาติ และชุมชนในจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นแหล่งปกปักพันธุกรรมพืช ความหลากหลายทางชีวภาพ และพัฒนาตำรับยาสมุนไพรท้องถิ่น จากต้นทุนความมั่งคั่งในจังหวัด การมองเห็นสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน นำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) – มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

             มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการวิจัยแบบสหสาขาวิทยาเพื่อการถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมจากพืชท้องถิ่น พื้นที่ศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) โดยมี ผศ.เกษม กุลประดิษฐ์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ เป็นหัวหน้าแผนงานวิจัย มีลักษณะการดำเนินงานโดยอาศัยเครือข่ายภาคประชาชนทำงานตามความชำนาญตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ขึ้นมาจนถึงระดับจังหวัด เครือข่ายงานส่วนราชการ เครือข่ายของผู้นำชุมชน เครือข่ายสถานศึกษา เครือข่ายสถานศาสนา และเครือข่ายภาคเอกชน จากแรงขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนจนประสบผลสำเร็จ จึงได้จัดตั้ง “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) – มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง”เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และนายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯร่วมกัน เป็นประธานในพิธี ซึ่งศูนย์ประสานงานฯตั้งอยู่ ณ อาคารเรียนรวม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มีหน้าที่ให้คำแนะนำทางด้านการประสานงานกับเครือข่ายการทำงานทั้งในระดับภูมิภาค และในส่วนกลาง เพื่อสนองพระราชดำริฯ ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และการจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ในระดับตำบล พัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต่อไปในอนาคต